วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

2.สมัยประวัติศาตร์


                                        2. สมัยประวัติศาสตร์              


สมัยประวัติศาสตร์เป็นสมัยที่ปรากฏหลักฐานลายลักษณ์อักษร  หลักฐานสมัยประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในดินแดนไทย  คือ  ศิลาจารึก  ในหลายพื้นที่พบศิลาจารึกที่อยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน  เช่น  ที่ศรีเทพ  จังหวัดเพชรบูรณ์  ที่ซับจำปา  จังหวัดลพบุรี  ส่วนจารึกที่ปรากฏศักราชชัดเจนที่สุด  คือ  จารึกอักษรปัลลวะ  เป็นภาษาสันสกฤตและเขมร  พบที่ปราสาทเขาน้อย  จังหวัดปราจีนบุรี  ระบุมหาศักราช 559 หรือตรงกับ พ.ศ. 1180
                
สำหรับการแบ่งสมัยประวัติศาสตร์ในดินแดนไทยโดยละเอียดมีดังนี้
     1)  สมัยอาณาจักรรุ่นแรก ๆ  นับช่วงเวลาก่อนการตั้งอาณาจักรสุโขทัย  เช่น  อาณาจักรทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16)  อาณาจักรละโว้ (พุทธศตวรรษที่ 12-18)  หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ  เช่น  ศิลาจารึก   เหรียญจารึก  รัฐโบราณเหล่านี้มีการสร้างสรรค์อารยธรรมภายใน  และมีการรับและแลกเปลี่ยนอารยธรรมจากภายนอก  เช่น  การรับพระพุทธศาสนา  ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู  การติดต่อค้าขายกับพ่อค้าต่างแดน  เป็นต้น
      2)  สมัยสุโขทัย  ตั้งแต่การสถาปนากรุงสุโขทัยเมื่อ พ.ศ. 1792  จนสุโขทัยถูกรวมเข้ากับกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2006  สมัยสุโขทัยเป็นช่วงที่มีการสร้างสรรค์วัฒนธรรมไทยหลายประการ  เช่น  ตัวหนังสือ  การนับถือพระพุทธศาสนา  การสร้างสรรค์ศิลปะที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง  เช่น  เจดีย์ทรงดอกบัวตูมหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์  พระพุทธรูปปางลีลา  เป็นต้น
       3)  สมัยอยุธยา  ตั้งแต่ พ.ศ. 1893 - 2310  สามารถแบ่งออกเป็นสมัยย่อยได้อีก  โดยแบ่งตามสมัยของราชวงศ์และแบ่งตามลักษณะสำคัญของประวัติศาสตร์
       3.1  แบ่งตามราชวงศ์ที่ปกครอง  ได้แก่  ราชวงศ์อู่ทอง (พ.ศ. 1893-1913 และ พ.ศ. 1931-1952)  ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (พ.ศ. 1913-1931 และ พ.ศ. 1952-2112)  ราชวงศ์สุโขทัย (พ.ศ. 2112-2173)  ราชวงศ์ปราสาททอง (พ.ศ. 2173-2231)  ราชวงศ์บ้านพลูหลวง (พ.ศ. 2231-2310)

        3.2  แบ่งตามลักษณะสำคัญของประวัติศาสตร์  ได้แก่
        (1)  สมัยการวางรากฐานและการสร้างความมั่นคง  เริ่มตั้งแต่การตั้งอาณาจักรเป็นสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) ใน พ.ศ. 1893 จนถึงสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา)  ในพ.ศ. 1991  เป็นช่วงที่อาณาจักรยังมีขนาดเล็ก  ต่อมาได้ขยายอำนาจไปโจมตีอาณาจักรขอม  ทำให้ราชสำนักอยุธยาได้รับวัฒนธรรมขอมเข้ามา  รวมทั้งการทำการค้ากับต่างชาติ  เช่น  จีน
         (2)  สมัยแห่งความมั่นคงทางการเมืองและเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 1991  ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชใน พ.ศ. 2231  เป็นช่วงที่ระบบการปกครองมีระเบียบแบบแผน  มีความมั่นคง  มีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติอย่างกว้างขวาง
         (3)  สมัยเสื่อมอำนาจ  ตั้งแต่ พ.ศ. 2231-2310  เป็นสมัยที่มีกบฏภายใน  มีการแย่งชิงอำนาจกันเองหลายครั้ง  ส่งผลให้ราชสำนักอ่อนแอและเสียกรุงใน พ.ศ. 2310
         (4)  สมัยธนบุรี  ตั้งแต่ พ.ศ. 2310-2325  เป็นสมัยของการฟื้นฟูบ้านเมืองหลังเสียกรุงศรีอยุธยา  มีการทำสงครามเกือบตลอดเวลา
         (5)  สมัยรัตนโกสินทร์  ตั้งแต่ พ.ศ. 2325-ปัจจุบัน  มีการแบ่งเป็นสมัยย่อยโดยยึดตามการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองและการปกครองร่วม กัน  โดยแบ่งได้ดังนี้
          5.1  สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ตั้งแต่ พ.ศ. 2325-2394  อยู่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1-รัชกาลที่ 3  เป็นช่วงการฟื้นฟูอาณาจักรในทุกด้านต่อจากสมัยธนบุรี
          5.2  สมัยรัตนโกสินทร์ยุคกลางปรับปรุงประเทศ  ตั้งแต่ พ.ศ. 2394-2495  อยู่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4-รัชกาลที่ 7  เป็นช่วงที่มีการติดต่อกับต่างชาติ  มีการปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยตามแบบตะวันตก  จนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย
           5.3  สมัยประชาธิปไตย  ตั้งแต่ พ.ศ. 2475  จนถึงปัจจุบัน  เป็นช่วงที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย  มีรัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายสูงสุดในการปกครองประเทศประชาชนมีสิทธิเสรีภาพทางการ เมือง  บ้านเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็ว